สำหรับโอกาสของแรงงานไทย ขณะนี้วีซ่าคนงานไทยยังไม่เปิดเป็นทางการจึงทำให้คนงานไทยมีจำนวนไม่มากนัก และการจัดส่งคนงานอยู่ในขอบเขตจำกัด อย่างไรก็ดี ในอนาคตหากความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีฯ กลับสู่ภาวะปกติ โอกาสของแรงงานไทยก็จะมีในส่วนแรงงานฝีมือในด้านอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณี และงานบริการ เช่น พ่อครัวร้านอาหารและพนักงานในโรงแรม เป็นต้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะต้องคำนึงในการพิจารณาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในซาอุดีฯ มีดังนี้
1. เนื่องจากซาอุดีฯ มีขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างจากไทยเป็นอย่างมาก มีข้อห้ามต่าง ๆ ที่เข้มงวด และมีบทลงโทษที่รุนแรง เช่น ห้ามดื่มของมึนเมา ห้ามเล่นการพนัน ห้ามมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยา เป็นต้น จึงเป็นความยากลำบากที่แรงงานไทยจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพวิถีชีวิตของซาอุดีฯ ได้ ดังนั้น การอนุญาตให้แรงงานไทยมาทำงานในซาอุดีฯ ควรพิจารณาคนงานที่เคยทำงานในซาอุดีฯ แล้ว หรือคนไทยมุสลิมทั้งในภาคกลางและภาคใต้ เพราะสามารถปรับตัวได้ง่าย และไม่มีปัญหาเรื่องอบายมุข
2. แรงงานไทยที่จะเข้ามาทำงานในซาอุดีฯ ควรเน้นแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือ เพราะเป็นตลาดแรงงานระดับกลาง และไม่มีปัญหาเรื่องจ่ายค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับแรงงานไร้ฝีมือหรือกรรมกรนั้น แรงงานไทยไม่สามารถสู้กับแรงงานจากเอเชียใต้ที่ยอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่า ได้
3. ซาอุดีฯ เป็นประเทศหนึ่งที่ค่าครองชีพไม่สูงมากกอปรกับวิถีชีวิตที่เคร่งครัด ไม่มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เช่น โรงภาพยนตร์ ไนท์คลับ บาร์ และสถานบันเทิงอื่น ๆ ทำให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ที่นี่ สามารถเก็บเงินได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
4. สำหรับโอกาสของการเปิดร้านอาหารไทยในซาอุดีฯ นั้น แม้ว่าในปัจจุบันจะมีร้านอาหารไทยในเมืองเจดดาห์ จำนวน 6 แห่ง (ตามเอกสารแนบ 2) และไทยมีศักยภาพที่จะส่งเสริมธุรกิจด้านนี้ในซาอุดีฯ ได้ แต่เนื่องจากกฏระเบียบการเข้าเมืองของซาอุดีฯ สำหรับชาวต่างชาติที่จะไปทำธุรกิจในซาอุดีฯ จะต้องมี sponsor เป็นชาวซาอุดีฯ เท่านั้น ฉะนั้น การที่คนไทยจะไปเปิดร้านอาหารไทยเอง ยังไม่สามารถจะกระทำได้ นอกจากจะมี sponsor รองรับอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อตกลงในรายละเอียดแล้ว ร้านอาหารดังกล่าวจะต้องขออนุญาตเปิดร้านในนามของ sponsor ซึ่งเป็นชาวซาอุดีฯ แต่การบริหารและการจัดการร้านอาหารนั้น สามารถกระทำได้โดยคนไทย ดังนั้น ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างผู้ลงทุนกับ sponsor จึงเป็นประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ดี พ่อครัวคนไทยยังเป็นที่ต้องการของโรงแรมใหญ่และร้านอาหารทั่วไปในซาอุดีฯ ซึ่งที่ผ่านมา สกญ.และสนร. ณ เมืองเจดดาห์ก็ได้รับการทาบทามจากภาคเอกชนซาอุดีฯ อยู่เสมอ แต่ก็ประสบปัญหาในเรื่องที่ทางการซาอุดีฯ ไม่ยอมออกวีซ่าใหม่ให้แก่แรงงานไทย (เนื่องจากประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีฯ ตามที่กล่าวถึงข้างต้น) ยกเว้นการออกวีซ่าใหม่ให้แก่คนงานไทยที่เข้าไปทำงานกับบริษัทเอกชนซาอุดีฯ ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้านายชั้นสูง ซึ่งในแต่ละปีจะมีเพียง 30 รายเท่านั้น ฉะนั้น การส่งเสริมให้เปิดร้านอาหาร/ภัตตาคารไทยในซาอุดีฯ ในปัจจุบัน จึงยังมีลู่ทางที่ไม่สดใสมากนัก อย่างไรก็ดี หากในอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีฯ กลับคืนสู่ภาวะปรกติก็คาดว่า การส่งเสริมการเปิดร้านอาหาร/ภัตตาคารไทยในซาอุดีฯ จะมีลู่ทางที่แจ่มใส เนื่องจากชาวซาอุดีฯ และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในซาอุดีฯ หลายล้านคนก็เริ่มรู้จักและนิยมบริโภคอาหารไทยมากยิ่งขึ้น
1948